บันทึกการเดินทางรอบยุโรปของผู้หญิงเอเชียตัวเล็กๆ ตอนที่ 1 เตรียมความพร้อม


บันทึกการเดินทางรอบยุโรปของผู้หญิงเอเชียตัวเล็กๆ 
ตอนที่ 1 เตรียมความพร้อม
44 วัน 20 เมือง 16 ประเทศ
ตอนที่ 1 จาก 17

สารบัญของบันทึก 

1. เตรียมความพร้อม
2. Barcelona, Spain (บาร์เซโลน่า, สเปน) [3 คืน]
3. Nice, France & Monaco (นีซ, ฝรั่งเศส และราชรัฐโมนาโก) [3 คืน]
4. Milan, Italy & Lugano Switzerland (มิลาน, อิตาลี และลูกาโน่ สวิสเซอร์แลนด์) [2 คืน]
5. Venice, Italy (เวนิส, อิตาลี) [2 คืน]
6. Ljubljana & Bled, Slovenia (ลูบลิยานา และเบลด, สโลวีเนีย) [3 คืน]
7. Zagreb, Croatia (ซาเกร็บ, โครเอเชีย) [2 คืน]
8. Budapest, Hungary (บูดาเปสต์, ฮังการี) [3 คืน]
9. Vienna, Austria & Bratislava, Slovakia (เวียนนา, ออสเตรีย และบราติสลาวา, สโลวาเกีย) [3 คืน]
10. Prague, Czech Republic (ปราก, สาธารณรัฐเช็ก) [4 คืน]
11. Kraków, Poland (คราคูฟ, โปแลนด์) [6 คืน]
12. Morskie Oko, Zakopane, Poland (ทะเลสาบมอร์สเกี๊ยะโอโกะ สโกเปีย, โปแลนด์) [0 คืน]
13. Berlin, Germany (เบอร์ลิน, เยอรมัน) [3 คืน]
14. Hamburg, Germany (ฮัมบูร์ก, เยอรมัน) [3 คืน]
15. Amsterdam, Netherlands (อัมสเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์) [2 คืน]
16. Antwerp, Belgium (แอนต์เวิร์ป, เบลเยี่ยม) [2 คืน]
17. Luxembourg City, Luxembourg (ลักเซมเบิร์ก, ราชรัฐลักเซมเบิร์ก) 
[2 คืน]

อยากให้อ่านก่อน

บันทึกนี้เล่าโดย K.Natri เป็นการเล่าจากประสบการณ์ตรงของเราเอง โดยการเล่าเรื่องได้ใช้ความรู้สึก ความคิดเห็นของเราแต่งเติมเข้าไปในเนื้อหา เพื่อเพิ่มอรรถรสในการเล่าเรื่อง นอกจากนี้เราได้รวบรวมข้อมูลบางส่วนที่ได้มาจากการอ่านในเว็บไซต์ต่างๆ ตามบอร์ดในสถานที่จริง และจากการฟังมาจากไกด์ รวมทั้งคนท้องถิ่น เพื่อนำมาบรรยายให้ดูมีความรู้ขึ้น 😁

จุดเริ่มต้น?

สวัสดีผู้คนอ่านทุกท่าน 😊 เราใช้นามปากกาว่า K.Natri บทความนี้เป็นบทความแรกของเราเลย เราอยากจะมาแชร์ประสบการณ์ของเราจากการท่องเที่ยวยุโรปตัวคนเดียว เผื่อใครที่กำลังวางแผนเที่ยว จะได้มารวบรวมข้อมูลที่เราได้เล่าไป ทริปนี้เกิดขึ้นหลังจากเรียนจบป.โท ที่ประเทศฝรั่งเศส และระหว่างที่เรากำลังรอรับปริญญาอยู่ นั่นเป็นช่วงที่ความฝันการท่องเที่ยวยุโรปได้เกิดขึ้นจริง เราต้องการเดินทางไปหลายๆ ที่ และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ได้เที่ยวยุโรปด้วย (ไม่รวมฝรั่งเศสที่มาเรียนต่อ) ไม่รู้จะมีโอกาสได้ทำแบบนี้อีกไหม พอมีโอกาส ทำไมเราจะไม่คว้าล่ะ 😄 หากถามว่ามีความกังวล ความกลัวไหม ตอบได้เลยว่ามีแน่นอน แต่มันคือสิ่งที่เราอยากทำ แล้วเราต้องทำมันให้ได้ เราเป็นแค่ผู้หญิงเอเชียตัวเล็กๆ (อย่าเรียกว่าตัวเตี้ย มันไม่น่ารัก 😜) และยังอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด กับมีสงครามยูเครนเกิดขึ้น ยิ่งทำให้เราต้องรวบรวมข้อมูลการเดินทาง เตรียมความพร้อม ติดตามข่าวสารทุกวัน เพื่อให้การเดินทางของเราลุล่วงไปได้ด้วยดี 

ทริปนี้ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2565 ถึง 2 พฤษภาคม 2565 เป็นเวลา 44 วัน กับการเดินทางไป 20 เมือง 16 ประเทศ จำนวนเงินที่ใช้ไป 8x,xxx บาท เป็นราคารวมทุกอย่างทั้งที่พัก (32,200 บาท) ค่าเดินทางระหว่างเมือง (18,400 บาท) ค่าเดินทางภายในเมือง (3,990 บาท) ค่าเข้าสถานที่ (1,160 บาท) ค่ากิน (23,900 บาท) และค่าจิปาถะ ซึ่งไม่ได้รวมค่าตั๋วเครื่องบินและวีซ่า เพราะเราเดินทางจากประเทศฝรั่งเศส (ในบทความหน้าอื่นๆ จะบอกรายละเอียดว่าเสียค่าอะไรไปเท่าไรบ้างในแต่ละเมือง) 

จริงๆ แล้ว ทริปนี้เราเดินทางไปกับ Charlie น้องเจ้าอ้วนกลมสีฟ้าที่อยู่ในกระเป๋าเสื้อโค้ทเราตลอดเวลา น้องไม่เคยคุยกับเราเลย แต่คอยยิ้มให้เราทุกวัน จากภาพด้านล่างที่เห็นคือน้อง Charlie และกระเป๋าลากขนาดไซส์ M ที่ใช้เดินทาง และยังมีกระเป๋าเป้ ไม่ได้ใหญ่มากอีกใบด้วย 

แอปพลิเคชันที่ใช้ระหว่างเดินทาง

  • Hostelworld แอปสำหรับจองโฮลเทล เราใช้แอปนี้จองทุกที่พักที่ไป ราคาจะมีการปรับเปลี่ยนตลอด มีทั้งถูกกว่าจองผ่านเว็บไซต์โฮลเทลเอง หรืออาจจะแพงกว่า ก็ให้เทียบราคา เลือกกันตามสะดวก ส่วนตัวเราเองจองผ่านแอปนี้หมด เพราะสะดวก ง่ายดี แล้วถ้าราคาต่าง มันก็ไม่ได้ต่างกันมาก ประมาณ 1 - 5 Euro  
  • MAPS.ME แผนที่ที่สามารถใช้งานแบบไม่มีอินเทอร์เน็ตได้ แต่ต้องโหลดแผนที่ตอนมีเน็ตเก็บไว้ก่อน 
  • FlixBus สำหรับจองรถบัสระหว่างเมือง ระหว่างประเทศ ที่ดำเนินการโดยบริษัท Flixbus
  • Rail Planner แอปหลักสำหรับการใช้รถไฟ ซึ่งเราเชื่อมต่อกับ Eurail Pass (จะอธิบายเพิ่มด้านล่าง) เป็นแอปที่ใช้โชว์พาสขึ้นรถไฟระหว่างเมืองและระหว่างประเทศ
  • Citymapper แอปนี้คล้ายกับ Google maps แต่จะบอกรายละเอียดของเมโทร บัส หรือขนส่งในเมืองได้ละเอียดกว่า และครบถ้วนกว่า เพราะบางที่ Google maps ไม่สามารถใช้ได้ดีหรือบอกรายละเอียดได้ เช่น ขนส่งในปารีส แอปนี้จะบอกว่าเราควรออกประตูไหนเมื่อถึงสถานีปลายทางแล้ว หรือในโมนาโก ถ้าใช้ Google maps จะไม่บอกวิธีขึ้นรถโดยสารครบถ้วน มีแต่แนะนำทางสำหรับให้เดินโดยส่วนมาก แต่แอปนี้จะบอกว่าเราควรใช้รถไหนเพื่อไปสถานที่นั้นๆ
  • Re-open EU แอปติดตามข่าวสารมาตรการโควิดในแต่ละประเทศของอียู รวมทั้งสวิตเซอร์แลนด์
  • Trainline สำหรับแอปนี้เราใช้เพื่อเช็คตารางรถไฟต่างๆ ในยุโรป เพราะบางทีแอปหลักที่เราใช้ Rail Planner จะไม่มีบอกบางขบวน ไม่มีการอัพเดต หรือข้อมูลขึ้นไม่ครบ แต่เราก็ยังสามารถใช้แอปหลักของเรา Rail Planner ในการขอพาสรถไฟได้ โดยเมื่อเรารู้ขบวนที่ต้องการแล้ว ก็เอาไปกรอกพิมพ์เพื่อเอาพาสในแอป ตัวอย่างเช่น เที่ยวรถไฟจากลักเซมเบิร์กไปปารีส เราได้แบบ Direct train แต่รูทเมทที่เจอที่ลักเซมเบิร์ก นางจะไปปารีสวันเดียวกัน แต่ได้ตั๋วแบบต้องเปลี่ยนขบวนหนึ่งรอบ เพราะตอนนางค้นหาในแอป Rail Planner มันไม่ขึ้นแบบ Direct (หรือจะใช้ค้นหาจากเว็บ Eurail ก็ได้เช่นกัน) นอกจากนี้แอปนี้ยังใช้จองรถไฟหรือรถบัสได้ ถ้าหากไม่ได้ใช้ Eurail Pass
  • Headout แอปสำหรับจองสถานที่เข้าต่างๆ โดยราคาจะเท่ากับเว็บไซต์หลักเลย แต่อันนี้จะมีค่าธรรมเนียมการจองต่อครั้งที่ 2.5 Euro ดังนั้นแอปนี้แนะนำสำหรับการจองที่มากกว่าหนึ่งครั้ง เพราะมีการสะสมเครดิตเพื่อใช้ลดการซื้อครั้งต่อไปด้วย เช่น เราซื้อตั๋วเข้า Park Guell ถ้าซื้อที่สถานที่จะ 10 Euro แต่เราซื้อผ่านแอปนี้จะ 12 Euro และได้เครดิตมา 6.12 Euro จากนั้นพอเราซื้อตั๋วเข้า Wieliczka Salt Mine จาก 21.5 Euro บวกค่าธรรมเนียม 2.5 Euro ก็จะเหลือ 17.88 Euro ซึ่งปกติหน้างานถ้าราคานักเรียนจะอยู่ที่ 99 PLN แต่เราจ่าย 17.88 Euro ก็เป็นประมาณ 84.24 PLN  
  • ÖBB เราจะใช้สำหรับจองที่นั่งรถไฟของขบวน ÖBB ซึ่งรถไฟของเจ้านี้ดำเนินการโดยออสเตรีย มีหลายขบวนในแถบยุโรปกลาง ที่เราใช้แอปนี้จองที่นั่งเพราะมีราคาถูกกว่าผ่านเว็บไซต์หลักของ Eurail และไม่มีค่าธรรมเนียม 
  • Omio แอปนี้เหมือนกับ Trainline เลย ใช้เช็คตารางรถไฟต่างๆ ในยุโรป เราใช้สองแอปเพื่อดับเบิ้ลเช็คตารางรถไฟ แต่แอปนี้มีแนะนำทางเลือกเพิ่มในการใช้เครื่องบินเดินทาง
  • Google Maps ต้องใช้สำหรับการเดินทางในเมืองเพื่อไม่ให้หลง

แนะนำตั๋วของ Eurail Pass

   เป็นตั๋วรถไฟระหว่างเมือง ระหว่างประเทศ ที่เหมือนการเหมาจ่ายครั้งเดียว และจะใช้ได้กี่ครั้ง กี่ประเทศ ขึ้นอยู่กับประเภทพาสที่เราเลือกซื้อ เช่น One Country Pass ในอิตาลีแบบ 3 days within 1 month ดังนั้นภายใน 1 เดือนหลังจากวันเปิดใช้งานวันแรก จะสามารถใช้พาสนี้ได้อีก 2 วัน โดยใน 2 วันนี้ จะขึ้นกี่ครั้งก็ได้ ในส่วนเรา เราเลือกซื้อ Global Pass แบบ 15 days within 2 months สามารถใช้ได้ 33 ประเทศ ก็คือทั่วยุโรปเลย จะมีประเทศไหนบ้าง ไปเช็คกันได้ในเว็บไซต์ อ่า ให้ลิงค์ไว้ https://www.eurail.com/en

เผื่อบางคนสงสัยว่าระหว่าง Interrail กับ Eurail ต่างกันยังไง ทั้งสองอันต่างกันตรง Interrail สำหรับ European citizens แต่ Eurail สำหรับ non-European citizens ดังนั้นถ้าคนในยุโรปจะซื้อ จะใช้อีกเว็บไซต์ นั่นคือ https://www.interrail.eu/en ทั้งสองแบบใช้แอปเดียวกัน และมีราคาเท่ากันเลย แต่เรื่องของโปรโมชั่น จะมีแตกต่างกันบ้าง อย่างล่าสุดมีลด 50% เฉพาะ Interrail เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปี สำหรับเรา คนไทยที่ใช้ Eurail คืออดสำหรับโปรนี้ แต่ก็มีโปรปกติคือ Winter sales และ Summer sales จะมีทุกปี ลด 10% ตอนนั้นเราซื้อ Global Pass ตอน Summer sale จากปกติราคาสำหรับเยาวชนอยู่ที่ 370 Euro แล้วลดเหลือ 333 Euro แต่เราจ่ายเพิ่มอีก 23 Euro เป็นค่า Full refund เพราะตอนนั้นยังมีสถานการณ์โควิดกับสงครามยูเครน เผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด แล้วเกิดไม่ได้ใช้พาสนี้ จะได้ขอคืนเงินเต็มได้ แต่เงินที่จ่ายสำหรับ Full refund จะไม่ได้คืน แต่ถ้าไม่ซื้อแบบ Full refund ก็ยังขอคืนเงินได้ แต่จะได้อยู่ 85% ของราคาที่จ่ายไป

Global Pass เป็นพาสที่เราเลือกใช้ผ่าน Eurail ที่เราซื้อพาสนี้ เพราะไปหลายประเทศ หลายวัน และต้องการความยืดหยุ่น โดยเราใช้พาสแบบผ่านแอปในมือถือ หรือที่เรียกว่า Eurail Mobile Pass คือจอง รับคิวอาร์โค้ดผ่านแอปทั้งหมด แต่จะมีอีกแบบคือ Eurail Paper Pass ที่แบบเขียนเองก่อนขึ้นรถไฟนั่นๆ ที่เราใช้ Eurail Mobile Pass เพราะสำหรับเรามันสะดวกกว่า ไม่ต้องพกอะไรเยอะแยะด้วย แล้วการใช้ผ่านแอปนี้ไม่ต้องห่วง หากทริปเรามีการเปลี่ยนแปลงระหว่างเดินทาง สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาเลย ไม่ต่างกับ Paper Pass นั่นคือเราจะกดเพิ่มพาส ยกเลิกพาส เปลี่ยนวันเดินทางเมื่อไร เที่ยวรถไฟไหนก็ได้ (แต่ไม่สามารถเปลี่ยนวันแรกได้หลังจากได้ใช้งานวันแรกไปแล้ว แต่ถ้ายังไม่ถึงวันแรก จะกดเลื่อนวันแรกของการใช้งานได้ตลอด เช่นเดียวกับวันระหว่างทริป หากผ่านวันนั้นที่เราเลือกแล้ว จะไม่สามารถกลับมาแก้ไขได้) ตัวอย่างเช่น ตอนแรกเราอยากเดินทางไปโปแลนด์วันที่ 13 เมษายน และได้เพิ่มพาสแล้วว่าอยากไปวันนี้ แต่เกิดเปลี่ยนใจ อยากเดินทางวันที่ 14 เมษายน ก็เปลี่ยนได้ ถ้าวันนั้นยังไม่ใช่วันที่ 14 เมษายน (แต่จริงๆ จะค่อยๆ กดเปิดใช้วันก่อนวันเดินทางก็ได้ จะได้ไม่ต้องแก้ไข แต่เรากดทีเดียวทั้งไปเลย 15 วันที่อยากเดินทาง แล้วค่อยแก้ไขทีหลังเอา) หรืออีกตัวอย่าง ตอนแรกจองตั๋วจากเบอร์ลินไปฮัมบูร์ก วันที่ 26 เมษายน เวลา 12:38 น. แต่วันนั้นไปถึงสถานีรถไฟเร็ว แล้วไม่รู้จะทำไรดี เพิ่ง 10 โมงกว่าๆ กว่าจะเที่ยงก็อีกนาน เลยเปลี่ยนขบวนจาก 12:38 น. มา 11:38 น. เพื่อให้ขึ้นรถไฟได้เร็วขึ้น

ภาพด้านบนเป็นภาพที่เราแคปมาจากแอป Rail Planner จะเห็นว่าตั๋วเราเป็นประเภท Eurail Global Pass แบบ 15 days within 2 months ที่นั่งแบบ 2nd class แล้วได้มีการเปิดใช้งานวันแรก คือ 17 มีนาคม (จริงๆ ทริปเราเริ่มวันที่ 20 มีนาคม แต่เราเปิดใช้งานตั้งแต่ 17 มีนาคม เพราะต้องการใช้พาสจากเมืองแรนส์ไปปารีสก่อน)      

สำหรับตรง 15/15 used คือ เราได้เปิดใช้ทุกวงกลมแล้ว ว่าวงกลมนี้จะใช้พาสวันนี้นะ แต่จริงๆ อย่างที่บอกก่อนหน้านี้ จะมาเปิดวงกลมวันใกล้ๆ ก่อนเดินทางก็ได้ และถ้ายังไม่เปิดวัน มันก็จะเป็นวงกลมสีขาว แล้วจะขึ้น เช่น 9/15 used พอเลยวันหรือถึงวันที่เราเปิดวงกลมมันก็จะกลายเป็นสีน้ำเงินเข้ม จากภาพจะเห็นว่าถูกใช้งานแล้ววันที่ 1 2 และ3 ดังนั้นวันที่แคปภาพนี้จะต้องเป็นหลังวันที่ 27 มีนาคม หรือวันนั้นเป็นวันที่ 27 มีนาคม เพราะวงกลมสีเข้มแล้ว แต่ส่วนสำหรับวงกลมสีฟ้า คือ วันที่ยังมาไม่ถึง และยังสามารถแก้ไขได้ตลอดเวลา 

สำหรับที่คนที่งงว่าทำไมถึง Milano Centrale – Milano Centrale บางคนอาจจะงงว่า นั่งรถไฟไปมาในสถานีเดียวได้เหรอ ก็งงไปหน่อย จะนั่งยังไง 😂 คำตอบคือ จริงๆ พาสของวันนี้คือ เราใช้รถไฟสองรอบ นั่นคือ Milano Centrale ไป Lugano และอีกรอบคือ Lugano ไป Milano Centrale ดังนั้นเวลามันขึ้นในแอป มันจะสรุปสถานีแรกของวันกับบสถานีสุดท้ายของวัน และแน่นอนใช้คิวอาร์โค้ดเดียวกันเลย

หากใช้ Eurail Pass แล้ว แน่นอนต้องพูดถึงเรื่องการจองที่นั่ง

บางขบวนต้องจองที่นั่ง เพราะถ้าหากไม่จอง เราจะถูกปรับ และไม่มีที่นั่งได้ รถไฟที่ต้องจองส่วนใหญ่เป็นขบวน TGV ของฝรั่งเศสทุกขบวน รถไฟของอิตาลี และสเปนเช่นกัน เราสามารถตรวจสอบว่าขบวนไหนต้องจองไม่จองได้ผ่านแอปและเว็บไซต์ของ Eurail ตัวอย่างเช่น (ภาพด้านล่าง) จาก Budapest ไป Vienna มีหลายขบวนให้เลือก ถ้าไม่อยากเสียค่าจองที่นั่ง ก็เลือกแบบที่ไม่ขึ้นว่า Seat Reservation required หรือ Seat reservations recommended 

จะจองที่นั่งยังไง?

วิธีการขึ้นกับขบวนนั้นๆ โดยส่วนมากทั้งหมดเลย ไม่รวมสายสเปน สามารถจองออนไลน์ได้หมด (มีสเปนเนี่ยแระ วุ่นวายสุด ต้องจองที่สถานีเท่านั้น) สำหรับจองออนไลน์จะจองผ่านเว็บ Eurail หรือ เว็บของรถไฟเจ้านั้นตรงๆ เลยก็ได้ เช่น รถไฟขบวนของ ÖBB, Trenitalia หรือ ČD บอกเลยว่าจองผ่านเว็บของรถไฟนั้นถูกกว่า และไม่เสียค่าธรรมเนียมด้วย เพราะถ้าจองผ่าน Eurail เสียค่าธรรมเนียม 2 Euro
ถ้าไม่อยากจองออนไลน์ แต่จะไปจองที่สถานีก็ทำได้ ไม่เสียค่าธรรมเนียมเช่นกัน 
     สำหรับขบวนแบบจองที่นั่งจะได้ 2 QR Code นั่นคือ พาสในแอป กับคิวอาร์โค้ดจองที่นั่งอาจจะอยู่ในแอปของรถไฟที่เราใช้หรืออาจได้เป็นไฟล์ pdf ในอีเมล์มา พอขึ้นรถไฟเจ้าหน้าที่จะขอดูทั้ง 2 QR code

สำหรับขบวนที่ไม่ต้องจองล่ะ?

ก็สามารถเดินขึ้นรถไฟได้เลย เจ้าหน้าที่จะตรวจแค่พาสในแอป แต่มีคำแนะนำเพิ่มเติมนิดนึง หากรถไฟนั่นตรงกับวันศุกร์หรือวันเสาร์ ก็อยากแนะนำให้จองหรือจะไม่จองก็ได้แล้วแต่สะดวก ที่แนะนำวันนี้เพราะว่าที่นั่งจะค่อนข้างเต็มเลย แต่ก็ไม่ใช่ทุกขบวนหรอก ต้องศึกษาเอาว่าขบวนนั่นจากสถานีนี้ไปสถานีนี้คนจะเยอะไหม เพราะนี่เคยนั่งรถไฟ จำไม่ได้แล้วจากไหนไปไหน ไม่ได้จองที่ไว้ พอนั่ง สักพักรถจอดสถานีนี้ ก็มีคนขึ้นมา แล้วบอกว่าฉันจองตรงนี้ เราเลยต้องย้ายออกไปหาที่อื่น แต่ไม่ต้องห่วงหรอก เราจะหาที่นั่งได้ในที่สุด เพราะบางคนก็ไม่ได้จองเหมือนกัน เพียงแต่วันนั้น เราแค่ฟลุ๊คไปนั่งที่ที่มีคนจองนั่นเอง

การหาที่พัก

เราเลือกจองที่พักโฮสเทลหมด แล้วเลือกแบบ Female dorm (ยกเว้นที่มิลาน เพราะมันเต็ม แล้วที่พักอื่นก็แพงแล้ว แต่ที่นอนมีม่านกั้น ก็โอเค) เพื่อความสบายใจ ไม่สะดวกที่จะนอนรวม เพราะกลัวนอนไม่หลับ ถ้าเห็นผู้ชายหล่อๆ รอบตัว ใจมันเต้นได้😍 และเรายังเลือกใกล้กับสถานีรถไฟกลาง หรือใกล้เมโทร เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้าย จะบอกว่าการพักโฮลเทลสำหรับนักเดินทางคนเดียวเป็นทางเลือกที่ดีมากๆ เพราะเราจะได้เจอคนมากมายที่เป็นรูทเมทเรา หรือคนที่พักโฮสเทลเดียวกันแต่ไปเจอกันที่ห้องนั่งเล่นกลางหรือห้องครัว (แนะนำให้พักโฮสเทลที่มีห้องครัว เพื่อประหยัดค่าอาหาร) เป็นเพื่อนให้เราได้คุย หรือชวนไปเที่ยวเป็นเพื่อนกัน ส่วนตัวเราเองบางครั้งก็โชคดีมีเพื่อน บางครั้งก็โชคไม่ดีไม่มีเพื่อน การที่โชคไม่ดี นั่นหมายถึง คนที่พักห้องเดียวกับเรา เขามาเป็นกลุ่ม หรือเขาเป็นวัยผู้ใหญ่ที่มาพักเพื่อธุระส่วนตัวของเขา หรือเจอคนที่พูดอิ้งไม่ได้ จะบอกว่าการเดินทางและพักโฮสเทล มันขึ้นกับโชคชะตาจริงๆ ว่าเราจะเจอใคร

การใช้งานอินเทอร์เน็ต และการจ่ายเงิน

  เราใช้ซิม Bouygues Telecom ของฝรั่งเศส เป็นแพ็คเกจรายเดือนที่เราใช้อยู่แล้ว ราคา 12.99 Euro ต่อเดือน โดยได้ 70 GB ในฝรั่งเศส และในอียูนอกฝรั่งเศส 12 GB สิ่งที่ต้องระวัง นั่นคือ แพ็คเกจมือถือยุโรปมักจะไม่รวมการใช้งานในสวิสเซอร์แลนด์ เพราะอยู่นอกอียู แต่เราก็ยังสามารถใช้งานได้ เพียงแต่ต้องเสียเงินเพิ่มจากอัตราที่เราใช้ไป ซึ่งแพงมาก เราใช้ไปแค่ 100 กว่า MB เสียไป 8.44 Euro เลย สำหรับคนที่ไม่ได้ใช้ซิมในประเทศอียูอยู่แล้ว ก็สามารถมาซื้อซิมท้องถิ่นที่นี่ได้ มีหลายเจ้าให้เลือก หลายโปรโมชั่น แล้วแต่จะสะดวกเลือก หรือจะซื้อซิมไทยสำหรับท่องเที่ยวต่างประเทศมาก็ได้ ในส่วน WiFi มีให้ใช้ฟรีตามสถานีรถไฟ ในตัวรถไฟเอง หรือสถานที่สำคัญ บางที่ก็เข้าใช้ได้เลย บางที่ก็ต้องลงทะเบียน บางที่ก็เชื่อมต่อไม่ได้สักที ความเร็วก็แล้วแต่สถานที่เช่นกัน แตกต่างกันไป แต่ไม่แนะนำให้เชื่อมต่อมั่วซั่ว เพราะอาจจะเป็นของพวกมิจฉาชีพ ที่จะแอบมาเจาะระบบเราก็ได้ 

บัตรเราใช้ของ Travel Card กรุงไทย สามารถซื้อสกุลเงินได้หลายสกุลเงิน แต่ที่เราไปจะไม่มีสกุลเงินในประเทศโครเอเชีย ฮังการี สาธารณะเช็ก และโปแลนด์ แล้วข้อเสียกรุงไทยคือ ต้องใช้สกุลเดียวกันจ่าย มันไม่สามารถคิดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินได้ ดังนั้นประเทศพวกนั้นเราแก้ปัญหาโดยพกเงินยูโรและแลกเงินท้องถิ่นเอา แต่อยากมีสิ่งมาแนะนำนั่นคือ Revolut เจ้าของโฮสเทลในโปแลนด์แนะนำมา มันเป็นแอปการเงินของ UK ที่เราสามารถแลกเงินสกุลต่างๆ ได้ มีสกุลบาทด้วย แล้วนำมาใช้จ่ายแบบ Contactless ได้เลย ได้ลองเทียบอัตราแลกเปลี่ยนจากยูโรไปเป็นสกุลเงินโปแลนด์แล้ว เรทดีมาก คุ้มกว่าแลกเงินสดเลย แถมเราใช้ไม่หมด ก็กดโอนกลับเป็นเงินบาทได้

สิ่งที่อยากบอก

  • พกแม่กุญแจไว้ล็อคตู้ล็อคเกอร์ของเรา เพราะบางที่ไม่มีให้ ต้องใช้ของเราเอง และแนะนำให้ซื้อแบบห่วงกว้างๆ ใหญ่ๆ เพราะบางที่ตัวคล้อยมันกว้าง เราเลยต้องใช้แม่กุญแจอันเล็กสองอันที่เรามีห้อยคล้อยต่อกัน
  • แนะนำให้พกกระเป๋าใส่เครื่องอาบน้ำแบบกันน้ำได้ เพราะบางที่ไม่มีที่วาง แล้วห้องน้ำก็แคบ อาบที่น้ำกระเด็นทั่วทั้งห้อง แล้วผ้าเราก็อาจเปียกได้ เราแก้ปัญหาโดยใช้ถุงพลาสติกแบบห้อยได้ใส่ผ้าแล้วผูกไว้ 
  • พกรองเท้าแตะ เพราะห้องน้ำบางโฮสเทล เป็นห้องน้ำรวมด้านนอก ไม่ได้มีในห้องนอนรวมเราเอง
  • บางชานชาลารถไฟ รถไฟสูงมาก ยังกะต้องปืนขึ้นไป หรือเพราะเราตัวเล็กก็ไม่รู้ ดังนั้นพกกระเป๋าไม่ควรใหญ่เกินความสามารถของเรา เพราะบางสถานีรถไฟจอดไม่ถึง 2 นาที 
  • กระเป๋าเงินให้ใช้แบบที่คาด แล้วใส่เสื้อโค้ททับเอา 
  • ควรพกเงินสดติดตัว เพราะบางร้าน และรถบัสบางที่ ไม่รับการ์ด
  • ไม่ควรคุยกับคนแปลกหน้าที่เห็นแล้วไม่น่าไว้ใจ และไม่รับของคนแปลกหน้าทุกกรณี ต้องคอยระวังมิจฉาชีพให้ดี ให้เดินผ่านไปเลย แบบเชิดๆ หยิ่งๆ ไม่ต้องหันมอง ทำเป็นไม่ได้ยินไป
  • ให้ระมัดระวัง โดยเฉพาะในบาร์เซลโลน่า ปารีส มิลาน เวนีส ปราก อัมสเตอร์ดัม (จริงๆ มีเมืองอื่นที่ต้องระวังอีก อันนี้บอกเฉพาะเมืองที่ต้องระวัง ที่เราไป) 
  • ตู้กด ATM แนะนำให้กดตู้ ATM ที่อยู่ตามธนาคารค่ะ เพราะอย่างของธนาคาร BNP ไม่มีค่าธรรมเนียม แต่ถ้ากดตู้อย่างของ Euronet มีค่าธรรมเนียม เคยโดนมา 3.5 Euro ค่ะ

ติดตามต่อได้ในตอน Barcelona, Spain (บาร์เซโลน่า, สเปน)